หนึ่งในซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (fossil) ที่หายาก คือซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิต
ที่มีรูปทรงกรวย (cone–shape) ขนาดเล็กจิ๋ว แต่เมื่อเร็วๆนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ในประเทศอังกฤษซึ่งร่วมงานกับทีมนักธรณีวิทยานานาชาติ เผยว่าค้นพบซากดึกดำบรรพ์ลักษณะดังกล่าวในเทือกเขาแอปพาเลเชียนใกล้เมืองฮัมเมิลส์ทาวน์
รัฐเพนซิลเวเนียในสหรัฐอเมริกา
นักวิจัยระบุว่าซากรูปกรวยนี้มีอายุ 450 ล้านปี มีรูปทรงคล้ายไอศกรีมโคน
เคยอาศัยอยู่ในยุคออร์โดวิเชียน (Ordovician) ซึ่งยุคนั้นเป็นช่วงที่มีการขยายตัวของสิ่งมีชีวิตในทะเลบนโลกของเรา
นักวิจัยเผยว่ามีความเป็นไปได้ที่ซากดึกดำบรรพ์สิ่งมีชีวิตทรงกรวยนี้
จะมีลักษณะอ่อนนุ่ม อีกทั้งยังเป็นชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบ โดยเชื่อว่ามันอาศัยอยู่ในหมู่แพลงก์ตอนก่อนที่จะถูกพัดพาลงสู่ท้องทะเล และถูกฝังไว้ในโคลนเปียก
ทั้งนี้ ในยุคออร์โดวิเชียนมีซากดึกดำบรรพ์ที่อยู่ในชั้นออร์โดวิเชียนมากมาย แต่เกือบทั้งหมดเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเปลือกแข็ง การพบซากสัตว์ที่เชื่อว่ามีความอ่อนนุ่มครั้งนี้
นักวิจัยมองว่าจะช่วยทำให้เข้าใจลึกซึ้งถึงสิ่งมีชีวิตในสมัยนั้นได้มากยิ่งขึ้น.