Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รูน สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งเวทมนตร์ดึกดำบรรพ์

หนึ่งในความน่าสนใจของการศึกษาพงศาวดารบุร่ำบุราณของโลกใบนี้ก็คือ มันมักจะมาควบคู่กับความลี้ลับที่ยังหาคำตอบไม่ได้อยู่เสมอ อีกทั้งความพิศวงเหล่านั้นยังชอบซ่อนตัวอยู่ในศาสตร์ที่อยู่เหนือหลักของเหตุและผลเสียด้วยสิครับ ทั้งเรื่องราวของสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ เช่นภูติ ผี ปีศาจ วิญญาณหรือโลกหลังความตายและที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือบรรดาไสยศาสตร์และเวทมนตร์โบราณครับ

บ่อยครั้งที่เรามักจะพบว่าไสยศาสตร์และเวทมนตร์คาถาต่างๆ มักจะถูกแสดงออกควบคู่กับ “สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์” บางประเภท ส่วนใหญ่ที่พบเห็นได้บ่อยก็จะเป็นอักขระภาษาโบราณหน้าตาแปลกประหลาดที่ช่วยเพิ่มได้ทั้งความขลังและพลังทางด้านเวทมนตร์ให้กับคาถาอาคมเหล่านั้น หนึ่งใน “สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์” ที่โด่งดังที่สุดในโลกโบราณก็คืออักษร “รูน” (Rune) ซึ่งมีต้นกำเนิดในดินแดนทวีปยุโรปสมัยโบราณเมื่อประมาณเกือบ 2,000 ปีที่แล้วครับ

เชื่อกันว่าอักษรรูนนั้นมีพลังอำนาจลึกลับทางเวทมนตร์ซุกซ่อนอยู่ ไม่แต่เฉพาะเมื่อครั้งอดีตกาลเท่านั้นหรอกครับ เพราะในปัจจุบันก็มีอาจารย์และนักพยากรณ์หลายท่านที่ยังคงใช้อักษรรูนโบราณในการช่วยทำนายเหตุการณ์ต่างๆในอนาคต แต่ก็เหมือนกับศาสตร์แห่งการทำนายทั่วไปล่ะครับ ที่ผลของการทำนายจะแม่นยำมากน้อยเพียงใดก็ต้องอยู่ขึ้นกับความเข้าใจในอักขระศักดิ์สิทธิ์ของผู้ทำนายเป็นสำคัญด้วย
ในอดีต สัญลักษณ์ ศักดิ์สิทธิ์แห่งรูนเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่ หลายในชนเผ่าแถบยุโรป ไม่ว่าจะเป็นชาวกอธ (Goth) ชนเผ่าเจอร์มานิค (Germanic) ชาวเดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ อังกฤษและเยอรมัน อักษรรูนประกอบไปด้วยอักขระ 24 ตัว เป็นพยัญชนะ 18 ตัวและสระ 6 ตัว สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์นี้บางครั้งก็เรียกกันว่าอักขระ “ฟูทาร์ก” (Futhark) ซึ่งเรียกตามอักษร 6 ตัวแรกของอักษรรูน (f u t h a r k) นั่นเอง
นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า คำว่า “รูน” ซึ่งเป็นชื่อเรียกอักษรแห่งเวทมนตร์ดึกดำบรรพ์นั้นน่าจะมาจากคำว่า “raunen” ซึ่งเป็นภาษาเยอรมันแปลว่า “กระซิบ” (Whisper) และความหมายนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของอักษรรูนได้ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

พักเรื่องวิชาการไว้ก่อน หันมามองต้นกำเนิดของอักษรรูนจากพงศาวดารกันบ้างดีกว่าครับ ตามตำนานแถบสแกนดิเนเวียนหรือชนเผ่านอร์ส (Norse)
เล่าสืบต่อกันมาว่า ผู้ที่ประดิษฐ์สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งรูน
ขึ้นมาใช้เป็นคนแรกก็คือเทพเจ้าแห่งสงคราม บทกวี ความรู้และความฉลาดหลักแหลม ผู้มีนามว่าโอดิน (Odin) ครับ เทพโอดินได้ห้อยหัวต่องแต่งประหนึ่งค้างคาวอยู่บนต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “อิกดราซิล” (Yggdrasil) ยาวนานเป็นระยะเวลา 9 วัน 9 คืน ติดต่อกัน เพื่อทรมานร่างกายด้วยการให้โลหิตไหลลงศีรษะ ผลจากการทรมานร่างกายของเทพโอดินทำให้ท่านเกิดญาณพิเศษ รับรู้เรื่องราวชวนพิศวงต่างๆมากมายหลาย

เรื่อง ว่ากันว่าตลอดเวลา 9 คืนที่ห้อยหัวอยู่นั้น เทพโอดินได้ล่วงรู้ถึงความลับทั้งหมดของโลกใบนี้ ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่พระองค์ตระหนักรู้ด้วยเช่นกันก็คือ สรรพสิ่งล้วนไม่เที่ยง พระองค์เองคงต้องสิ้นลมหายใจลงไปในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ท่านจึงคิดหาวิธีที่จะรักษาความรู้มหาศาลเหล่านั้นเอาไว้ให้มนุษย์ในยุคหลังได้เรียนรู้สืบต่อ
แน่นอนครับ ความรู้มากมายถ้าเพียงแค่จดจำเอาไว้ในสมองยังไงสักวันหนึ่งมันก็ต้องลืม ดังนั้นเทพโอดินจึงได้ประดิษฐ์อักษรรูนขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายความรู้ที่ท่านได้รับมาใน 9 คืนอันแสนทรมานให้มนุษย์โลกได้ศึกษา ดังนั้นถ้าเราอ้างอิงตามตำนานศักดิ์สิทธิ์นี้ อักษรรูนจึงเป็นอักขระที่ได้มาจาก “ความตาย” ของมหาเทพโอดิน อักขระชนิดนี้จึงมีความพิเศษในด้านของเวทมนตร์และคาถาอาคม ซึ่งรวมถึงสรรพความรู้โบราณต่างๆด้วย ถือได้ว่ารูนเป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์แห่งสแกนดิเนเวียนเลยก็ว่าได้ครับ ชนเผ่านอร์สในสมัยโบราณจึงมักจะจารึกอักษรรูนโดยมีนัยแฝงทางด้านพลังเวทมนตร์เอาไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการปลุกเสกคาถาหรือคำสาปในไสยเวทต่างๆ โดยเฉพาะการร่ายอาคมลงบนอาวุธเพื่อให้สังหารศัตรูได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

ลองขยับเข้ามาดูความหมายเชิงนัยเกี่ยวกับเวทมนตร์ของอักษรรูนกันบ้างดีกว่าครับว่าจะมีความน่าสนใจเพียงใดและจะเกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง

นักวิชาการแบ่งอักขระรูน 24 ตัวออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ตัว แต่ละกลุ่มตั้งชื่อตามเทพเจ้าของชาวนอร์ส ซึ่งก็คือกลุ่มเฟรยา (Freya) กลุ่มไฮม์ดัลล์ (Heimdall) และกลุ่มเทียร์ (Tyr)ด้วยว่าอักษรรูนกลุ่มแรกหรือกลุ่มเฟรยา ได้รับชื่อมาจากเทพีแห่งความรักและความอุดมสมบูรณ์ อักขระรูน 8 ตัวแรกในกลุ่มเฟรยาจึงมีความหมายในเชิงของความรัก ความสุขและชีวิตตามไปด้วย

อักษรรูนกลุ่มที่สองหรือกลุ่มเทพไฮม์ดัลล์นั้น ด้วยว่าพระองค์เป็นเทพเจ้าผู้พิทักษ์ ทำหน้าที่ถือกุญแจแห่งสวรรค์เพื่อเปิดทางให้เหล่าดวงวิญญาณเดินทางไปยังแดนสุขาวดี นั่นจึงทำให้อักษรรูนกลุ่มที่สองนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ตีความได้ถึงความก้าวหน้า เงินทอง โชคชะตาและความสำเร็จนั่นเอง
อักษรรูนกลุ่มสุดท้ายหรือกลุ่มเทียร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม อักษรรูนในกลุ่มสุดท้ายนี้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของอารมณ์และจิตวิญญาณ เช่นความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญหรือไม่ก็เกี่ยวข้อง
กับความเจ็บปวดต่างๆ

คำถามสำคัญก็คือ แล้วอักขระต่างๆเหล่านี้สามารถแสดงพลังทางด้านเวทมนตร์ออกมาได้อย่างไร คำตอบก็คือ เราเพียงแค่ทำการสลักอักขระที่สื่อความหมายถึงนัยต่างๆลงไปเท่านั้นเองครับก็จะสามารถเข้าถึงพลังเหล่านั้นได้แล้ว

ดังเช่นที่ชาวนอร์สทำการสลักอักษรรูนลงไปบนศัตตราวุธของพวกเขา นั่นล่ะครับ แต่บางครั้งเราก็จำเป็นต้องทำการ “ผสม” อักขระที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ต่างๆเหล่านี้เข้าด้วยกันด้วยเพื่อแสดงออกถึงพลังที่ครอบคลุมขึ้นด้วยครับ เช่นอักขระเสียง t หรือที่ออกเสียงว่าเทียร์ ซึ่งมีความหมายถึงความกล้าหาญหรือความสำเร็จ เมื่อนำมาผสมกับอักขระเสียง  f หรือที่ออกเสียงว่าเฟฮู (Fehu) ซึ่งมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์หรือความมั่งคั่งแล้ว ก็จะได้สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ออกมาเป็นซึ่งมีความหมายเชิงเวทมนตร์ในทำนองของ “ความสำเร็จทางการเงิน” นั่นเองครับ
ทว่าในปัจจุบัน อักษรรูนสมัยใหม่ปรากฏขึ้นมามากมายราวกับดอกเห็ดในเกมวางแผนการรบต่างๆ จากประเทศญี่ปุ่นที่พยายามเชื่อมโยงความศักดิ์สิทธิ์แห่งสัญลักษณ์เข้ากับความเป็นอักษรรูน แต่อักขระยุคใหม่ที่ปรากฏในเกมเหล่านั้นเพียงแค่ใช้ชื่อของ “รูน” เพื่อสื่อถึงพลังอำนาจทางด้านเวทมนตร์เท่านั้น ไม่ได้นำรูปแบบของอักขระมาจากอักษรรูนของชาวนอร์สแต่อย่างใด เรียกได้ว่าเป็นการรังสรรค์ลวดลายของอักษรรูนแบบใหม่กันเองตามใจชอบเสียมากกว่า
ในทางวิชาการแล้ว อักษรรูนเป็นอักขระที่ยังถอดความไม่ได้แน่ชัด การตีความหมายอักษรรูนของนักวิชาการในปัจจุบันจึงเป็นเพียงแค่การศึกษา ตีความและคาดเดาความหมายจากหลักฐานเพียงน้อยนิดที่ยังคลุมเครืออยู่เท่านั้นครับ แต่กระนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรรูนก็ได้กล่าวเสริมเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “จารึกอักษรรูน ทุกชิ้นที่ค้นพบสามารถสื่อความหมายได้มากเกินกว่าที่นักวิชาการได้เคยตีความเอาไว้” นั่นหมายความว่าสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งรูนอาจจะซุกซ่อนเวทมนตร์ที่แฝงไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์อันทรงพลังเอาไว้ด้วยก็เป็นได้
ด้วยความเป็นมาที่น่าทึ่งและเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวอันเข้มขลัง อักษรรูนจึงถูกนำมาใช้ในการสร้างสีสันให้กับเรื่องราวในโลกภาพยนตร์ โดยล่าสุด รูนได้รับการหยิบยกเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของเหล่าตัวละคร “ชาโดว์ฮันเตอร์” หรือ “นักรบครึ่งเทวดา” ในภาพยนตร์ที่สร้างมาจากหนังสือขายดีเรื่อง The Mortal Instruments: City of Bones ซึ่งเหล่า “ชาโดว์ฮันเตอร์” ได้บรรจงเขียนอักษรรูนตามแบบฉบับของพวกเขาลงบนร่างกาย เพื่อใช้พลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของมันช่วยเพิ่มความสามารถในการต่อสู้ด้านต่างๆ เช่น ความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ หรือความรวดเร็ว รวมทั้งพลังแห่งการเยียวยารักษา แถมยังใช้รูนเป็นเครื่องรางเพื่อการต่อสู้กับบรรดาอสุรกายทั้งแวมไพร์ ผีดิบ หรือมนุษย์หมาป่าในโลกคู่ขนานที่มนุษย์มองไม่เห็นอีกด้วยครับ
แต่ทว่าพลังเวทมนตร์แห่งอักษรรูนของชาโดว์ฮันเตอร์นั้นจะขลังและทรงพลังอำนาจเทียบเท่าอักษรรูนต้นฉบับของชาวนอร์สเมื่อเกือบสองพันปีก่อนหรือไม่ ต้องไปพิสูจน์กันเองครับ

รายการบล็อกของฉัน