สุสานที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยในครั้งนี้ เป็นสุสานหินตัดที่มีอายุยาวนานถึง 4,300 ปี และถูกกลบ ลบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ด้วยผงทรายสุด ลูกหูลูกตาในซัคคารา แม้ว่าจะมีการขุดค้นพีระมิด และบริเวณใกล้เคียงกันนั้นมานานตั้ง 150 ปีแล้ว
Custom Search
ดร.ซาฮี ฮาวาสส์ เลขาธิการ SCA เป็นผู้นำคณะสื่อมวลชนเข้าชมสุสานทั้ง 2 แห่ง ซึ่งอยู่ห่างจากพีระมิดขั้นบันไดอันมีชื่อเสียงของแห่งซัคคารา ไปทางใต้เพียง 400 เมตร และห่างจากกรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ไปประมาณ 35 กิโลเมตรเท่านั้น
ตัวสุสานทั้งสองสร้างด้วยหินตัด บริเวณทับหลังเหนือทางเข้ามีตัวอักษรเฮียโรกราฟฟิกสลักอยู่ ทำให้รู้ว่าสุสานหนึ่งเป็นของบุรุษ นาม อิยา-มาอัท ซึ่งเป็นข้าราชบริพารในองค์ ฟาโรห์อูนาส กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 5 ผู้ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับเหมืองหินที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างพีระมิด แถมยังได้ดูแลพระคลังของฟาโรห์อีกด้วย สุสานนี้มีขนาดกว้างประมาณ 1 หลา ยาว 2.75 หลา
ส่วนอีกสุสานหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าเท่าตัว มีภาพสลักเป็นรูปสตรีในท่านั่ง ทำให้รู้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่ทอดร่างของสตรีนางหนึ่ง นาม ธินห์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องการบันเทิง ซึ่งน่าจะเป็นนักร้องในยุคของฟาโรห์อูนาส และ ด้านหนึ่งของผนังก็มีภาพของสาวเจ้ากำลังขับขานบทเพลงอยู่ด้วย
การค้นพบนี้ ทำให้ ดร.ฮาวาสส์ ดีใจจนเนื้อเต้น เพราะเป็นการพิสูจน์ว่า ลึกลงไปใต้ดินของเมืองซัคคารานั้น ยังมีอะไรดีๆอยู่อีกมาก และเครือข่ายของสุสานโบราณในบริเวณนี้ ก็อาจจะใหญ่กว่าที่เคยคาดคิดกัน
ดร.ฮาวาสส์บอกว่า เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว สุสานใหม่ (ที่เก่ากึ๊กส์) ทั้งสอง แห่งนี้ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการขุดค้นบริเวณนี้ต่อไปอีกยกใหญ่ และน่าจะทำให้ได้คำตอบอีกมากเกี่ยวกับเรื่องราวของราชวงศ์ที่ 5-6 ของอาณาจักรเก่าแก่แห่งนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่า การสิ้นพระชนม์ของฟาโรห์อูนาส ได้นำมาซึ่งจุดจบของราชวงศ์ที่ 5 เนื่องจากพระองค์ไม่มีพระโอรส ในขณะที่ พระธิดาได้กลายเป็นราชินีคนแรกของราชวงศ์ที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรอียิปต์โบราณเกิดความขัดแย้งภายในอย่างมาก
เช่นเดียวกับ ไอแดน ด๊อดสัน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสทอล อังกฤษ หนึ่งในคณะขุดค้นที่บอกว่า แม้สุสานทั้งสองแห่งนี้ จะยังไม่ได้บอกความสำคัญในตัวเองมากนัก แต่ก็เป็นการบ่งบอกให้เห็นว่า บริเวณสุสานกษัตริย์แห่งนี้ กินอาณาบริเวณที่ใหญ่มาก และ พอจะคาดเดาได้เลยว่า พื้นที่ว่างๆของซัคคาราที่เห็นๆกันอยู่ในแผนที่นั้น ไม่ได้เป็นพื้นที่ว่างเปล่า แต่นักโบราณคดียังไม่ได้ไปขุดของสำคัญ ในหน้าประวัติศาสตร์ขึ้นมาจากผืนทรายต่างหาก
เรื่องราวของพระนาง เคยถูกกล่าวถึงมาก่อน ในตำราการแพทย์ ที่ถูกเขียนขึ้น ด้วยพระประสงค์ของพระองค์ มันเป็นตำรายาที่ช่วยทำให้เส้นพระเกศาของพระนางแข็งแรง แสดงว่าพระราชินีก็คงจะรักสวยรักงามไม่ใช่เล่น
พีระมิดแห่งนี้ สูง 5 เมตร แต่คาดว่าก่อนหน้านี้ในอดีตเคยสูง 14 เมตร มีฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านยาว 22 เมตร แต่ละด้านเอียง 51 องศา ตัวพีระมิด ทั้งหมดน่าจะเคยปกคลุมผิวหน้าด้วยหินปูนสีขาวชั้นดีจากเมืองทูราบริเวณรอบๆพีระมิด มีการค้นพบรูปปั้นที่ใช้ในพิธีศพระหว่างปีที่ 818-712 ก่อนคริสตกาล และพบโบสถ์ขนาดเล็กของยุคอาณาจักรใหม่ ช่วง 1,550 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นวิหารที่ตกแต่งเหมือนกับการบูชาเทพโอซิริส และพบโลงศพของยุคหลังๆ ประมาณ 399-343 ปีก่อนคริสตกาล แถมด้วยรูปแกะสลักไม้ของเทพอนูบีสด้วย ซึ่งการค้นพบข้าวของจากหลายยุคมาอยู่รวมกันในบริเวณใกล้เคียงกันนี้ แสดงให้เห็นว่า น่าจะมีการใช้พื้นที่ของสุสานเดียวกันนี้ซ้ำๆกันอีกหลายครั้งต่อมาในยุคหลังๆ
และล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา นี้ ทางการอียิปต์ก็อัพเดท ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจพีระมิดของพระนางเซเชเชตว่า นักอียิปต์วิทยา ได้พบซากมัมมี่ ซึ่งคาดว่าเป็นมัมมี่ของพระนางแล้ว
พวกเขาใช้เวลาร่วม 5 ชั่วโมงในการเปิดฝาโลงศพหิน และก็พบกะโหลก ขา กระดูกเชิงกราน และชิ้นส่วนร่างกายอื่นๆที่พันไว้ด้วยผ้าลินิน นอกจากนั้น ยังมีเครื่องปั้นดินเผาและทองคำซึ่งเอาไว้พันบริเวณนิ้วของมัมมี่ ส่วนสิ่งของอื่นๆเชื่อว่าอาจโดนหัวขโมยสมัยโบราณจัดการไปแล้ว
ดร.ซาฮี ฮาวาสส์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าเราจะไม่พบพระนามของราชินีที่ถูกฝังไว้ในพีระมิดแห่งนี้ แต่ว่าร่องรอยทุกอย่างล้วนบ่งบอกว่านางคือเซเชเชต มารดาของฟาโรห์เตติ ฟาโรห์องค์แรกของราชวงศ์ที่ 6
กล่าวถึงการค้นพบมาพอประมาณแล้ว คงต้องให้เครดิตคณะสำรวจ ซึ่งนำโดย ดร.ฮาวาสส์ ผู้ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ SCA ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ก่อนที่จะมาดังเป็นพลุแตก และเป็นความภูมิใจของวงการโบราณคดีในปี พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นปีที่เขาโด่งดังสุดๆ จากการที่นิตยสารไทม์ ได้ประกาศรายชื่อผู้ทรงอิทธิพลของโลก 100 คน จากผลงานที่เขาได้ พยายามค้นคว้าศึกษาเรื่องอียิปต์ โบราณ โดยเฉพาะ
เรื่องอันน่าสนใจของ ยุวกษัตริย์ ตุตัน-คาเมน ซึ่งเขาได้ใช้เทคโนโลยีทีซีสแกนในการเผยพระพักตร์ ที่แท้จริงขององค์ฟาโรห์ พร้อมๆกับเปิดเผยว่า กษัตริย์พระองค์นี้ ไม่ได้ถูกปลงพระชนม์เหมือนกับที่เคยเชื่อๆกันมาแต่อดีต ก่อนจากกัน ทีมงานต่วย'ตูน มีของแถมอีกเล็กน้อยสำหรับแฟนานุแฟน นั่นคือ ในช่วงต้นเดือน ธันวาคมที่ผ่านมา มีรายงานจากคณะผู้เชี่ยวชาญของ อังกฤษ ประกอบด้วย โคลิน รีดเดอร์ นักธรณีวิทยา และ โจนาธาน ฟอยล์ นักประวัติศาสตร์ สถาปนิก ที่ได้เปิดเผยการค้นพบว่า ความเข้าใจที่ เราๆท่านๆมีต่อสฟิงซ์ที่ผ่านมานั้น เป็นความเชื่อที่ผิด
จากที่แต่ไหนแต่ไรมา คนทั่วไปคิดว่า สฟิงซ์แห่งกีซ่า มีรูปลักษณ์เป็นสิงโต แต่มีหัวเป็นมนุษย์ ซึ่งน่าจะจำลองมาจากพระพักตร์ของ ฟาโรห์คาเฟร แต่จากการค้นคว้าครั้งใหม่ของนักวิชาการชาวอังกฤษ ได้พบว่า ดั้งเดิมจริงๆ แล้ว สฟิงซ์มีใบหน้าเป็นสิงโตต่างหาก
อันที่จริง แนวคิดนี้มีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในการศึกษาครั้งใหม่นี้ บรรดานักวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพดิจิตอล จากองค์ประกอบที่เหลืออยู่ แล้วฟันธงลงไปว่า สฟิงซ์ยักษ์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมา ก่อนตัวมหาพีระมิดกีซ่า และน่าจะถูกสลักใบหน้าเป็นหน้าราชสีห์ก่อน แล้วจึงถูกสลักใหม่ภายหลังให้เป็นพระพักตร์ขององค์ฟาโรห์ในที่สุด
ส่วนจะเชื่อถือได้หรือไม่ คงต้องรอดูในระยะ ยาว ว่าจะมีใครหาทฤษฎีมาแย้งคุณพี่รีดเดอร์ กะพี่ฟอยล์ได้หรือเปล่า ส่วนตอนนี้ ขอปักใจเชื่อคณะวิจัยของอังกฤษไปพลางๆก่อน