Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

หนึ่งในภูเขาน้ำแข็งลูกใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้ได้แตกตัวจากทวีปแอนตาร์กติกา


หนึ่งในภูเขาน้ำแข็งลูกใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้ได้แตกตัวจากทวีปแอนตาร์กติกา
แผ่นน้ำแข็งมหึมาแตกตัวออกจากบริเวณชั้นน้ำแข็งที่เรียกว่า "ลาร์เซน ซี" บนทวีปแอนตาร์กติกา กลายเป็นภูเขาน้ำแข็งที่มีความหนา 200 เมตรและกินพื้นที่ 6,000 ตร. กม. แม้ว่าภูเขาน้ำแข็งนี้จะเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ และไปไม่ไกลนัก กระแสน้ำและลมอาจจะพัดพามันไปทางตอนเหนือของทวีปแอนตาร์กติกา และเป็นอันตรายต่อการเดินเรือขนส่งในที่สุด

การแตกตัวนี่เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้หลังจากติดตามเฝ้าดูรอยร้าวขนาดใหญ่บนชั้นน้ำแข็งนี้มากว่า 10 ปี โดยรอยแตกนี้เริ่มขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วตั้งแต่ ปี 2014
รอยแยกผืนน้ำแข็งลาร์เซ่นขยายตัวต่อเนื่อง
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เครื่องมือจับสัญญาณอินฟราเรดบนดาวเทียมอะควา (Aqua)

ของสหรัฐอเมริกาเผยให้เห็นน้ำใสบริเวณรอยแยกระหว่างชั้นน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็ง โดยน้ำบริเวณนี้มีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำแข็งและ
อากาศรอบ ๆ

ศ.เอเดรียน ลัคแมน จากมหาวิทยาลัยสวอนซี ผู้ติดตามปรากฏการณ์นี้อย่างใกล้ชิดบอกว่า เห็นได้ชัดเจนว่าแผ่นน้ำแข็งได้แยกตัวออกจากชั้นน้ำแข็งแล้วตลอดแนวแล้ว

นักวิทยาศาสตร์คิดว่า ชั้นน้ำแข็งลาร์เซน ซี อยู่ในช่วงที่มีขนาดเล็กที่สุด นับตั้งแต่ยุคน้ำแข็งเมื่อปี 11,700 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม การแยกตัวของแผ่นน้ำแข็งในลักษณะนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ภูเขาน้ำแข็งที่แตกตัวแยกไปเพื่อที่ผืนน้ำแข็งจะสามารถคงน้ำหนักที่สมดุลไว้ได้เมื่อมีการสะสมของหิมะที่ตกลงมาใหม่และธารน้ำแข็งที่เคลื่อนตัวมาเพิ่ม

เคยมีแผ่นน้ำแข็งแยกตัวออกมาจาก "ลาร์เซน ซี" มาแล้วในอดีต อาทิ แผ่นน้ำแข็งขนาดราว 9,000 ตารางกิโลเมตรที่แยกตัวออกมาเมื่อปี 1986
อย่างไรก็ตาม ภูเขาน้ำแข็งก่อนใหม่นี้ยังถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับภูเขาน้ำแข็งก้อนอื่น ๆ ที่เคยพบบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา ตัวอย่างเช่น แผ่นน้ำแข็งที่ชื่อว่า "B-15" ซึ่งแยกตัวจากผืนน้ำแข็งรอส เมื่อปี 2000 และมีขนาดราว11,000 ตารางกิโลเมตร และยังพบเศษเสี้ยวของแผ่นน้ำแข็งนี้เคลื่อนตัวผ่านไปบริเวณประเทศนิวซีแลนด์ นี่นับเป็นแผ่นน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดที่เคยถูกบันทึกไว้ในยุคที่มีเทคโนโลยีดาวเทียม
ภาพการแยกตัวของแผ่นน้ำแข็งได้รับการยืนยันจาก
ระบบดาวเทียมเซนทิเนล-1
ในปี 1956 มีรายงานว่า เรือสำหรับทลายก้อนน้ำแข็งของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาพบแผ่นน้ำแข็งขนาดราว 32,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าประเทศเบลเยียมเสียอีก แต่นั่นเป็นยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยีดาวเทียมบันทึกไว้ได้
เมื่อช่วงขึ้นศตวรรษที่ผ่านมา ผืนน้ำแข็งใกล้เคียงของลาร์เซน ซี สองผืนอย่าง ลาร์เซน เอ และ ลาร์เซน บี ได้สลายตัวไปและมีความเป็นไปได้สูงที่ภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ศ.เฮเลน ฟริคเกอร์ จากสถาบันวิจัยทางสมุทรศาสตร์ Scripps บอกกับบีบีซีว่า ไม่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ลาร์เซน เอ และ ลาร์เซน บี จะเหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ลาร์เซน ซี และผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งไม่ได้กังวลมากนักกับสิ่งที่เกิดขึ้น

สำหรับตอนนี้ นักวิจัยจะคอยเฝ้าสังเกตุการณ์ว่าชั้นน้ำแข็งลาร์เซน ซี จะมีปฏิกริยาอย่างไรต่อไป ว่าความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และการแยกตัวของแผ่นน้ำแข็งจะดำเนินต่อไปด้วยอัตราคงที่หรือไม่

รายการบล็อกของฉัน