พบส่วนหางของไดโนเสาร์มีขน ในก้อนอำพันเก่าแก่ 99 ล้านปีส่วนหางมีขนของไดโนเสาร์ขนาดเล็ก ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในก้อนอำพันซึ่งพบที่เมียนมา
วารสาร Current Biology ตีพิมพ์เผยแพร่การค้นพบส่วนหางของไดโนเสาร์ขนาดเล็กจากยุคมีโซโซอิก ซึ่งติดอยู่ในก้อนอำพันเก่าแก่ 99 ล้านปี ซึ่งได้จากเมืองมิตจินาในรัฐคะฉิ่นของเมียนมา โดยส่วนหางนี้ยังมีขนติดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึง
การจัดเรียงตัวของขนไดโนเสาร์ซึ่งยังคงเป็นปริศนาอยู่ก่อนหน้านี้
ภาพจากจินตนาการของศิลปินแสดงให้เห็นไดโนเสาร์มีขนขนาดเล็กเท่านกกระจอกในยุคมีโซโซอิก |
ก้อนอำพันดังกล่าวค้นพบโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยด้านธรณีวิทยาของจีนในกรุงปักกิ่ง โดยพบในตลาดแห่งหนึ่งของรัฐคะฉิ่นซึ่งเป็นแหล่งผลิตอำพันที่มีชื่อเสียงของเมียนมามายาวนาน ซึ่งก้อนอำพันดังกล่าวถูกเจียระไนให้กลมเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับแล้ว แต่ชิ้นส่วนไดโนเสาร์ด้านในซึ่งผู้ค้านึกว่าเป็นซากพืชยังไม่ได้รับความเสียหาย
ภาพซูมให้เห็นรายละเอียดของขนที่ส่วนหางไดโนเสาร์ |
จากการตรวจสอบ พบว่าเป็นส่วนหางของไดโนเสาร์ชนิดหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กเท่ากับนกกระจอก โดยขนที่พบเรียงตัวอย่างสมบูรณ์ในลักษณะสามมิติ มีสีน้ำตาลที่ส่วนปลายและมีสีขาวที่ด้านใน นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่าส่วนหางที่พบนี้เป็นซากของไดโนเสาร์และไม่ใช่ซากของนกโบราณอย่างแน่นอนเพราะมีโครงสร้างแตกต่างกัน ทั้งยังพบว่ามีของเหลวอยู่ในซากหางนี้ด้วย ซึ่งแสดงว่าไดโนเสาร์ตัวนี้อาจจมลงในน้ำยางเหนียวของต้นไม้ที่กลายเป็นอำพันทั้งที่มันยังมีชีวิตอยู่
การค้นพบส่วนหางของไดโนเสาร์ในก้อนอำพันนี้ จะช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยามีความเข้าใจถึงการจัดเรียงตัวของขนไดโนเสาร์มากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ไม่สามารถทราบถึงข้อมูลในประเด็นดังกล่าวได้ เพราะซากฟอสซิลส่วนใหญ่พบในดินตะกอนที่กลายเป็นหิน ซึ่งจะทำให้แนวขนที่ติดอยู่แบนราบเปลี่ยนไปจากทรงเดิม