ตามหาสัตว์ดึกดำบรรพ์ในอาวยันเตปุย
อาวยันเตปุย (Auyan Tepui) เป็นเทือกเขาอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเวเนซูเอลา
คำว่า "เตปุย" แปลว่า ภูเขาหัวตัด คือภูเขาที่มียอดแบนราบเหมือนถูกอะไรเฉือนออกไป ไม่สูง ๆ ต่ำ ๆ อย่างภูเขาทั่วไป บริเวณยอดเขาของเตปุยจึงมีลักษณะเป็นที่ราบสูงมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาทึบ สภาพไม่ต่างกันนักกับป่าดงดิบเบื้องล่าง อีกทั้งมีแม่น้ำลำห้วยไหลผ่าน น้ำตกเองเจลซึ่งเป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในโลกสูงถึง 979 เมตร ก็ตกลงมาจากหน้าผาของเทือกเขาแห่งนี้
ลักษณะภูมิประเทศอันแปลกประหลาดของอาวยันเตปุยนี่เองที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับ เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยส์ จนนำไปแต่งเป็นนิยายเรื่อง "โลกหลงสำรวจ" (The Lost World) ขึ้นมา
เป็นเรื่องของการค้นหาสัตว์ดึกดำบรรพ์ในดินแดนที่ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อนของคณะนักสำรวจที่มีศาสตราจารย์ชาเลนเจอร์เป็นหัวหน้าคณะ แต่สัตว์ดึกดำบรรพ์อาจมิได้มีอยู่แต่ในนวนิยายเท่านั้น
เพราะเมื่อปี ค.ศ. 1955 อเล็กซานเดอร์ ไลเม นักธรรมชาติวิทยาได้ไปสำรวจเทือกเขาอาวยันเตปุย ขณะที่เขากำลังค้นหาเพชรอยู่ที่ลำน้ำสายหนึ่งบนยอดเขาแห่งนั้น เขาก็แลเห็นสัตว์รูปร่างประหลาดสามตัวนอนผึ่งแดดอยู่บนก้อนหินริมน้ำ ซึ่งเมื่อดูเผิน ๆ รูปร่างของมันคล้ายแมวน้ำมาก แต่พอเขาจ้องมองให้ถนัดกลับพบว่าใบหน้าของมันดูจะเป็นสัตว์เลื้อยคลานมากกว่า และคอก็ดูจะยาวผิดสัดส่วนจากแมวน้ำทั่วไป ทั้งมันยังมีเท้าแบบใบพายอยู่สองคู่ ภาพที่เขาสเก็ตซ์กลับมานั้นดูคล้าย "เปลสิโอเสาร์" มากกว่าอยางอื่น แต่สิ่งหนึ่งที่อาจทำให้มันไม่เหมือนเปลสิโอเสาร์ก็เห็นจะเป็นขนาด เพราะสัตว์ที่เห็นนี้ยาวจากหัวจรดปลายหางไม่เกิน 3 ฟุต (90 ซม.)
เป็นไปได้หรือไม่ว่าสัตว์ที่เขาเห็นนั้นเป็นแค่ตัวลูกถึงได้มีขนาดเล็ก แต่ไลเมบอกว่าเขาคิดว่าไม่ใช่ เขาเชื่อว่ามันเป็นพวกที่โตเต็มวัยแลว้ แต่ที่มีขนาดเล็กก็เพราะมันอาจจะเป็นเปลสิโอเสาร์แคระ และจากการที่มีขนาดเล็กนี่เองมันจึงสามารถดำรงชีวิตมาได้จนถึงปัจจุบัน เพราะขนาดของมันไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของที่นั่น พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ แหล่งน้ำบนยอดเขาอาวยันเตปุยนั้นเป็นแหล่งน้ำขนาดเล็ก แม้จะอุดมสมบูรณ์ แต่ปลาก็คงจะมีจำนวนไม่มากนัก เปลสิโอเสาร์ขนาดใหญ่ก็ต้องกินจุ
ซึ่งถ้าหากมันอาศัยอยู่ที่นั่นมันก็คงจะบริโภคปลามากเกินกว่าที่ปลาจะขยายพันธ์เติบโตได้ทัน และเมือปลาหมดไป เปลสิโอเสาร์ก็ไม่มีอะไรกิน มันก็อยู่ไม่ได้ต้องสูญพันธุ์ตามไปนานแล้ว แต่ถ้าเป็นเปลสิโอเสาร์แคระมันก็จะกินปลาไม่มาก ปลาก็ขยายพันธุ์ได้ทัน เปลสิโอเสาร์จึงรอดอยู่ได้ อย่างไรก็ตามหลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นเปลสิโอเสาณ์จริง มันอาจจะเป็นนากที่มีคอยาวก็ได้ บางคนคิดไปไกลกว่านี้ บอกว่ามันอาจเป็นจระเข้ก็ได้
เปลสิโอเสาร์เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ยุคเดียวกันกับไดโนเสาร์ แต่ก็ไม่ใช่ไดโนเสาร์ เปลสิโอเสาร์เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในทะเล ซึ่งในยุรนั้นมีสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดที่ออกหากินในทะเล รูปร่างของพวกมัน
จึงเปลี่ยนแปลงไปให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตในทะเล เช่นขาเปลี่ยนไปกลายเป็นใบพาย บางชนิดมีครีบที่ปลายหาง แต่พวกมันไม่มีเหงือกสำหรับหายใจใต้น้ำแบบปลา
ดังนั้นมันจึงต้องโผล่ขึ้นผิวน้ำเพื่อหายใจเป็นครั้งเป็นคราวแบบเดียวกันกับโลมา และวาฬสมัยนี้ เปลสิโอเสาร์ก็เป็นหนึ่งในจำพวกสัตว์เลื้อยคลานที่ออกไปอาศัยอยู่ในทะเล มันมีลำตัวกลม คอเรียวยาวหัวเล็ก หางไม่สั้นไม่ยาว ขาทั้งสี่เป็นรูปใบพาย เดิมเคยเชื่อกันว่าเปลสิโอเสาร์ว่ายน้ำโดยการโบกครีบใบพายไปข้างหน้ามาข้างหลังเหมือนพายเรือ แต่สมัยใหม่มีความเห็นว่ามันโบกครีบขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนนกบินในอากาศ เช่นเดียวกันกับวิธีที่นกเพนกวินหรือเต่าทะเลว่ายน้ำ
ดูจากรูปร่างของเปลสิโอเสาร์แล้วเชื่อว่ามันคงว่ายน้ำไม่เร็ว และคงไม่ล่าเหยื่อด้วยการไล่ตาม แต่คงใช้วิธีลอยตัวตามสบายไปตามกระแสน้ำ พอมีปลาว่ายผ่านมาก็พุ่งหัวออกไปงับ ฟันเล็กแหลมของมันช่วยยึดเหยื่อเอาไว้ไม่ให้ลื่นหลุด
ความรู้เรื่องเปลสิโอเสาร์ยังมีน้อย เรารู้ว่ามันถือกำเนิดขึ้นตอนต้นยุคจูราสสิค หรือเมื่อประมาณ 205 ล้านปีมาแล้ว และสืบต่อเผ่าพันธุ์มาจนถึงปลายยุคครีเทเซียสเมื่อ 65 ล้านปีที่ผ่านมา จึงได้สูญพันธุ์ไปพร้อมกับไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์อื่น ๆ แต่ก็มีบางคนไม่แน่ใจว่าเปลสิโอเสาร์สูญพันธุ์ไปจากโลกจริง ๆ เหตุที่ทำให้พวกเขาไม่แน่ใจ
ก็เพราะว่าประการแรกมีผู้แลเห็นสัตว์รูปร่างประหลาดในที่ต่าง ๆ หลายต่อหลายแห่งและในวาระต่างกัน ตามคำบอกเล่าของพวกเขารุปร่างของมันคล้ายกันกับเปลสิโอเสาร์
ประการที่สองมิใช่ว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์จะสูญพันธุ์ไปเสียทั้งหมด ในช่วงเปลี่ยนยุคจากครีเทเซียสเป็นยุคเทอร์เซียรีที่เรียกกันว่า "ยุครอยต่อเคที"
(KT boundary) เมื่อ 65 ล้านปีก่อน เต่า จระเข้ ปลาฉลาม ต่างล้วนเป็นสัตว์เก่าแก่มีมาก่อนไดโนเสาร์เสียอีกก็ยังคงมีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน นี่ยังไม่นับรวมสัตว์เล็ก ๆ อย่างเช่นแมงดาทะเล ยิ่งเมื่อมีการค้นพบปลาซีลาขันธ์ปลาสมัย 400 ล้านปีมาแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้กับความเชื่อที่ว่าเปลสิโอเสาร์อาจยังมิได้สูญพันธุ์ไปจริง
(ภาพสเก็ตซ์)
ในปี 1990 อาวยันเตปุยก็ได้ต้อนรับคณะสำรวจอีกคณะหนึ่ง "เฟเบียน มีเชลแองเจลี" นักชีววิทยาได้นำคณะออกสำรวจพืชและสัตว์ของอาวยันเตปุย ระหว่างอยู่ที่นั่นตัวเขาและ "อาร์มันโด" น้องชายก็ได้มีโอกาสเห็นสัตว์ที่คล้ายกันกับที่ไลเมกล่าวถึง มันนอกอยู่บนชะโงกหิน แต่พอพวกเขาจะเข้าไปใกล้เพื่อดูให้เห็นชัด ๆ มันก็กระโดดลงน้ำหายลับไป และในช่วงทศวรรษที่ 1990 นี้เอง คณะถ่ายทำสารคดีของสถานีโทรทัศน์เยอรมันก็ได้ออกไปค้นหาเปลสิโอเสาร์ของอาวยันเตปุย แต่สัตว์เลื้อยคลานที่พวกเขาพบก็มีเพียงจิ้งเหลนน้ำตัวเล็ก ๆ เท่านั้น ไ่ม่มีโอกาสได้เห็นสัตว์อย่างที่ไลเมบอก
เปลสิโอเสารือาจมิได้มีอยู่แต่ที่อาวยันเตปุยเท่านั้น ในแหล่งน้ำอื่น ๆ ของเวเนซูเอลาก็มีผู้พบสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายกันนี้เช่นกัน เมื่อปี 1990 มาร์ค มิลเลอร์ กับคริสตินบุตรสาวได้ไปค้นหาลิงของลัวส์ที่เวเนซูเอลา และที่นั่นพวกเขาก็ได้ยินเรื่องของสัตว์ลึกลับชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ในลากูนหรือบึงใหญ่ จากคำบอกเล่าและภาพที่พวกอินเดียนพื้นเมืองวาดให้ดูมันช่างเหมือนกันกับเปลสิโอเสาร์ และนี่เองทำให้มาร์ค มิลเลอร์ ต้องกลับไปเวเนซูเอลาอีกครั้งหนึ่งเพื่อตามหาสัตว์ลึกลับตัวนี้ มีนาคม 1993 มาร์ค และสตีฟ แมทธิว
😎เพื่อนร่วมทีม
ได้บินจากโอไฮโอ สหรัฐฯ ไปถึงปวยร์โต อาร์ยาคูโซ ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเวเนซูเอลา ที่นั่น "โลเรนโซ โรดริเกซ" เพื่อนเก่าพร้อมกับ "ฮวน" หลานชายได้มาคอยต้อนรับอยู่แล้วที่สนามบิน ที่ที่พวกเขาจะไปกันต่อนั้นเป็นหมู่บ้านของพวกอินเดียนเผ่าปีอาโรอาซึ่งอยู่ในป่าลึก ยังไม่มีถนนตัดผ่านเข้าไป วิธีที่จะเข้าไปให้ถึงที่นั่นถ้าไม่นั่งเรือล่องไปตามแม่น้ำซึ่งออกจะอันตราย ก็จะต้องบินไป ซึ่งโลเรนโซก็ได้เตรียมเช่าเครื่องบินเล็กที่สามารถขึ้นลงบนพื้นดินโล่ง ๆ ในป่าได้เอาไว้แล้ว
มองลงไปจากเครื่องบิน ป่าที่พวกเขากำลังบินผ่านนี้เป็นป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ยังไม่มีคนจากภายนอกบุกรุกเข้าไปแผ้วถาง เครื่องบินบินไปลงที่ทางวิ่งโล่ง ๆ ที่เป็นเพียงพื้นดินปนทราย จากที่นั่นพวกเขายังต้องเดินเท้าอีกหลายชั่วดมงกว่าจะถึงหมู่บ้านกัมปานีของชนเผ่าปีอาโรอา โลเรนโซได้เตรียมหาคนนำทางที่ชำนาญป่าเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว เขาชื่อ "อามาดา" เป็นผู้ที่รู้จักป่าบริเวณนั้นเป็นอย่างดี รู้จักรอยเท้าของสัตว์ทุกชนิด รู้ว่าที่ใดควรไป ที่ใดมีอันตรายควรเลี่ยง อามาดาพาพวกเขาไปพบคนพื้นเมืองตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในละแวกนั้นเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ที่พวกเขากำลังตามหา หมู่บ้านหนึ่ง ๆ ก็มีคนอาศัยเพียง 40 - 50 คนเท่านั้น
แล้ววันหนึ่ง "ฟรานซิสโก" หัวหน้าหมู่บ้านกัมปานีที่พวกเขาไปพักอยู่ด้วยได้เล่าเรื่อง "สัตว์ประหลาดของบึงกัมปานี" ให้พวกมาร์คฟังว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ลูก ๆ ของเขาได้เอาเรือออกไปในบึงเพื่อที่จะล่านกน้ำ แต่ยิ่งพายลึกเข้าไปก็ยิ่งไม่พบนก แล้วทันใดนั้นพวกเขาก็แลเห็นน้ำหมุนเป็นวงกว้างอยู่กลางบึง และมีสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่ตอนแรกพวกเขาคิดว่าเป็นสมเสร็จโผล่ขึ้นมา พวกเขารีบจ้วงพายเข้าไปหามัน แต่พอเข้าไปใกล้ก็พบว่าไม่ใช่สมเสร็จ ตอนนั้นเย็นโพล้เพล้แล้วจึงมองเห็นได้ไม่ชัดเจน แต่ก็สังเกตเห็นว่าผิวหนังของมันเกลี้ยง ๆ เป็นสีเทา หัวใหญ่ พวกเขาบอกว่าริมฝีปากของมันห้อยลง ลำตัวของมันพอ ๆ กับสมเสร็จ แต่มีหางยาวคล้ายงู สัตว์ตัวนี้ยาวขนาดคนห้าคนนอนต่อ ๆ กัน (ราว ๆ 8 เมตร) และว่าตอนกลางคืนดวงตาของมันเรืองแสงด้วย ภรรยาของฟรานซิสโกยังได้เสริมอีกว่ามีสัตว์น่ากลัวอีกหลายชนิดอาศัยอยู่ในแม่น้ำเวนตูอารี
เช้าวันรุ่งขึ้น มาร์คกับพรรคพวกก็นั่งเรือออกไปสำรวจแม่น้ำเวนตูอารีกันและพยายามจะเข้าไปให้ถึงบึงใหญ่ที่ฟรานซิสโกบอกว่าเป็นที่อาศัยของสัตว์ลึกลับตัวนั้น แต่ก็ไม่สามารถเอาเรือผ่านป่าพรุที่มีต้นไม้ล้มขวางทางอยู่ จึงต้องกลับ วันต่อมาจึงเอาเรือขุดลำเล็กซึ่งไปกันได้แค่สี่คน คือมาร์ค สตีฟ ฮวน และอามาดา คนนำทาง เมื่อไปถึงชายบึง อามาดาขอนั่งคอยอยู่บนตลิ่งเพราะกลัว ปล่อยให้สามคนที่เหลือถ่อเรือเข้าไปกันเอง มาร์คสังเกตเห็นว่าแถวนั้นออกจะเงียบผิดปกติ ไม่มีนาก ไม่มีนกน้ำมาปรากฏตัวให้เห็นบ้างเลย ยิ่งลึกเข้าไปน้ำก็ยิ่งลึกจนไม้ถ่อยันไม่ถึงพื้น พวกเขาตั้งใจจะเข้าไปให้ถึงใจกลางบึง
🙄ที่ตรงนั้นพวกชาวบ้านบอกว่ามีโพรงหรือถ้ำใต้น้ำทะลุไปถึงแม่น้ำเวนตูอารีและบึงอื่น ๆ ได้ อาศัยถ้ำใต้น้ำนี้เองสัตว์ตัวนั้นถึงเดินทางไปไหนมาไหนได้โดยง่าย ขณะที่พวกเขาพายเรืออยู่นั้น จู่ ๆ ก็มีอะไรหนุนใต้ท้องเรือจนรู้สึกว่าเรือถูกยกลอยพ้นผิวน้ำ สตีฟร้องตะโกนให้ทุกคนระวังตัว เรือตกลงกระแทกน้ำโดยแรงจนน้ำกระเซ็นไปทั่ว
เคราะห์ดีที่เรือไม่คว่ำ พอได้สติและประคองเรือไว้ได้ มาร์คมองกลับไปที่ฝั่งก็ไม่เห็นอามาดาเสียแล้ว สตีฟพายเรือข้ามบึงอย่างระมัดระวัง และในตอนนั้นเองมาร์คก็แลเห็นอะไรอย่างหนึ่งที่ชายฝั่งตรงข้าม มันดูคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน ยาวราว 15-20 ฟุต (4.5 - 6 เมตร) สีเทา ๆ หรือสีเงิน มาร์คบอกให้สตีฟชะลอฝีพาย พร้อมกับใช้กล้องส่องทางไกลส่องดู แต่ก็เห็นแค่ผิวหนังสีเทา ๆ สัตว์ตัวนั้นว่ายน้ำออกน้ำลึกแล้วก็ดำจมลงไป พวกเขาจึงพายเรือเลาะไปตามชายฝั่งไปยังที่ที่มาร์คเห็นสัตว์ตัวนั้น แต่ก็ไม่พบรอยเท้า มีเพียงพื้นโคลนแห่งหนึ่งมีรอยเหมือนสัตว์ใหญ่ไถลตัวลงน้ำ
เมื่อพวกเขาพากันกลับออกมาจากบึงก็พบอามาดาตัวสั่นงันงก เขาบอกว่าเขาเห็นสัตว์รูปร่างคล้ายงูตัวยาวมากว่ายน้ำตามเรือไป มันเคลื่อนตัวไปในน้ำเหมือนตัวหนอน แม้ว่าเขาเป็นพรานและนักแกะรอย แต่เขาก็ไม่เคยเห็นสัตว์อะไรแบบนี้มาก่อน อารามกลัวเขาจึงรีบหนึออกมาจากที่นั่น เขาเชื่อว่าเจ้าสัตว์เลื้อยคลานตัวนี้จะต้องเป็นตัวเดียวกันกับที่ชาวบ้านพูดถึง กลับถึงหมู่บ้านอามาดาเที่ยวเล่าถึงสิ่งที่เขาเห็นให้ใครต่อใครฟัง ซึ่งรูปร่างลักษณะของมันตามที่เขาเล่าและจากที่คนพื้่นเมืองวาดรูปให้ดู สัตว์ตัวนี้รูปร่างคล้ายงู แต่ลำตัวใหญ่เหมือนกลืนถังน้ำมันเข้าไป
มาร์คลองถามความเห็นโลเรนโซดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สัตว์ตัวนี้อาจจะเป็นเปลสิโอเสาร์ โลเรนโซไม่ออกความเห็น แต่บอกว่าดินแดนที่ยังไม่มีการสำรวจแห่งนี้กว้างใหญ่เต็มไปด้วยแม่น้ำหนองบึงและป่าพรุที่ยากที่ใครจะฝ่าไปได้ ชาวอินเดียนที่นั่นพูดถึงสัตว์ตัวนี้กันมาหลายชั่วคนแล้ว ทั้งยังพูดถึงเมืองลึกลับและผู้คนแปลก ๆ ที่อาศัยอยู่ที่นั่น พูดถึงต้นไม้กินคน และสัตว์ที่เรายังไม่รู้จักอีกมากมาย พันเอกฟอว์เซตต์เคยเข้าไปค้นหาเมืองนี้แล้วไม่กลับออกมาอีกเลย ก็ไม่มีใครรู้ว่าเขาพบเมืองลับแลทีว่านี้หรือไม่
VIDEO
มาร์คขอให้อามาดาพาเขากลับไปสำรวจบึงนั้นอีกสักครั้ง แต่คำตอบที่ได้รับจากอามาดาก็คือ "ผมจะไม่มีวันกลับไปสถานที่เลวร้ายแห่งนั้นอีก"