คนแต่ก่อนท่านจะทำการงานหรือกิจกรรมใดๆก็เก็บข้อมูลไว้แล้วคอยสังเกตอย่างรอบคอบก่อนที่จะลงมือทุกสิ่งอย่างโดยเฉพาะงานใหญ่ที่เกี่ยวกับความเป็นความตายหรือความผาสุกแห่งแผ่นดิน เช่น การยกทัพไปจับศึกต่างๆ ซึ่งลางและฤกษ์ทั้งหลายก็มีที่มาจากสิ่งนี้แม้ในเรื่องสัตว์และคนใกล้ตัวต่างๆก็มีการทายทักเอาไว้ไม่เว้น ดังผมไปค้นดงหนังสือเก่าจนเจอ
เรื่องสิ่งต้องห้ามที่คนโบราณท่านเรียกว่า
“อุบาทว์ 9 อย่าง” ซึ่งผูกเป็นกลอนไว้ว่า
“จงเว้นอุบาทว์เหล่าทั้งเก้าสิ่ง หนึ่งมหิงส์ เมียสอง อย่าปองหา
สุนัข 4 วิฬาร 5 อีกบุตรา 6 คน มลทินมี
สุนัข 7 8 ม้า คชา 9 แต่ล้วนเหล่าแรงร้าย เร่งหน่ายหนี
จะถอยลดยศศักดิ์ชักอัปรีย์ เป็นราคีดังกล่าวเรื่องราวมา”
ฟังแล้วก็อย่าไปปล่อยหมาแมวที่เลี้ยงไว้ให้เหลือครบตามโบราณว่าหรือพาลูกหลานไปปล่อยทีเดียวนะครับ เพราะนี่เป็นความเชื่อแต่เก่าก่อนที่รู้ไว้ประดับสติปัญญาดีแต่ไม่ได้การันตีผลของมัน ซึ่งสิ่งที่ควรเชื่อมากกว่าคือคำแนะนำที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ด้วยเมตตาว่า “สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดีและบูชาดี...”
นี่เองคือ “ฤกษ์พระพุทธเจ้า” ที่ใครเชื่อก็เจริญ
เรื่องความเชื่อใน สัตว์บางประเภทว่าให้คุณ หรือโทษได้นั้นทางฝั่ง ตะวันตกก็มีอยู่ไม่น้อย ฝั่งสยามเราก็มีอยู่มาก เรียกได้มีอยู่คู่ประวัติศาสตร์มาช้านาน โดย เฉพาะที่เกี่ยวกับสัตว์ต่างๆเช่นสัตว์ต่อไปนี้
นกแสก เป็นนกที่หน้าตาน่าเอ็นดูถ้าไม่จู่ๆ หันหัวขวับมา 180 องศาพร้อมด้วยตาโตๆ โดยนกตระกูลนี้เป็นญาติกับนกฮูกกับนกเค้าแมว ซึ่งนกที่มีมูฟเม้นท์คอได้ราวกับผีญี่ปุ่นนี้มีสุ้มเสียงที่ไม่ธรรมดาโดยเฉพาะ “นกแสก”
ที่ร้องขึ้นมายามค่ำคืนเหนือบ้านใครก็จะพากันเย็นจับขั้วหัวใจด้วยเชื่อว่า มาบอกลางมรณะ นั่นเป็นที่มาของชื่อ “นกผี”
ในเรื่องของการดูนิมิตจากนกนี้คนโบราณท่านดูต่างจากเราโดยมีศาสตร์เฉพาะด้านโหราเรียกว่า “สกุณฤกษ์” ที่ให้ดูสัตว์ปีกบนท้องฟ้าก่อนที่จะทำการใดๆ เช่นออกจากบ้านหรือยกทัพไปสัประยุทธ์กันในทางปราชญ์ท่านแบ่ง “นกฝ่ายขวา” กับ “นกฝ่ายซ้าย” (ฟังดูยังกับนกการเมือง) โดยนกฝ่ายขวาคือนกหากินกลางวัน ส่วนสกุณาฝ่ายซ้ายคือชนิดที่หากินกลางคืน เลยโดนคนจับเปรียบว่าเป็นนกอัปมงคล
คนสมัยก่อนท่านให้รายละเอียดไว้ว่า “ถ้าเห็นพญาแร้งบินมา ดุจพระยามาร ถ้าเห็นนกกระเรียนมา ดุจมนตรีหรือเสนาบดีมา ถ้าแลเห็นนกกาบินมา ดุจอำมาตย์ผู้ใหญ่มา ถ้าแลเห็นนกทั้งหลายบินมา ดุจสมณะและพราหมณ์มา”
ซึ่งฟังดูแล้วก็ไม่ได้แย่ทั้งร้อย เห็นไหมครับว่าความเชื่อเองก็ยังแย้งกันแม้ในตำราเก่าแก่เหมือนกัน ดังนั้นก็ขอให้ใช้เหตุผลเถิดครับเพราะนกประเภทเค้าแมว, นกแสก หรือแม้แต่แร้ง ซึ่งนกเหล่านี้มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก แต่ก็แทบจะสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว
ซึ่งฟังดูแล้วก็ไม่ได้แย่ทั้งร้อย เห็นไหมครับว่าความเชื่อเองก็ยังแย้งกันแม้ในตำราเก่าแก่เหมือนกัน ดังนั้นก็ขอให้ใช้เหตุผลเถิดครับเพราะนกประเภทเค้าแมว, นกแสก หรือแม้แต่แร้ง ซึ่งนกเหล่านี้มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก แต่ก็แทบจะสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว
แมวดำ ความเชื่อไทยเราแต่ก่อนที่ว่าแมวดำเป็นดั่งลางร้ายบอกเหตุ เช่น ถ้ากำลังเดินทางแล้วแมวดำ “วิ่งตัดหน้า” ต้องหยุด ไม่ควรไปต่อด้วยเชื่อว่าถ้าไม่เลิกล้มการเดินทางก็จะเกิดหายนะขึ้นเป็นแน่แท้ ซึ่งข้อนี้ผู้ใหญ่แต่ก่อนท่านคงเตือนไว้เพราะการที่สัตว์วิ่งตัดหน้าก็อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ และเป็นการเตือนให้เราระมัดระวังในการเดินทางต่อไปข้างหน้ามากขึ้น
ความเชื่อเรื่องแมวดำของไทยไม่ได้ร้ายเสมอไปนะครับเพราะมีแมวดำชนิดที่เรียก “แมวโกญจา” ที่หน้าตาเป็นแมวดำปลอดทั้งตัว ขนสั้นเส้นเล็กละเอียดนุ่ม นัยน์ตาเหลือง หรือสีทองอ่อน ซึ่งบางคนรู้จักในชื่อพันธุ์ “บอมเบย์” ท่านก็ว่าเป็นแมวที่มี “คุณ” แก่ผู้เลี้ยงหนักหนา ผิดกับความเชื่อทางตะวันตกที่ว่าแมวดำเป็นสัตว์เลี้ยงของแม่มด
สำหรับมนุษย์ที่เข้าใจดีและมีเมตตาก็ย่อมรู้ว่าความโชคร้ายนั้นหาได้มาจากสัตว์ตาดำๆไม่ หากแต่มาจากความโหดร้ายที่คนเราเลือกที่จะทำเองต่างหาก มีอาณาจักรหนึ่งที่ไม่เกลียดกลัวแมวดำแต่กลับอ้าแขนรับด้วยซ้ำ
(โชคดีของแมวดำ)
(โชคดีของแมวดำ)
เรื่องนี้มีข้อมูลจากองค์กรผู้ดูแลแมวนานาชาติ (International Cat Care) ว่าชาวไอยคุปต์ถือว่าแมวดำเป็น “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” ที่พึงกระทำบูชาด้วยเป็นตัวแทนของเทวีแบสเต็ทที่มีพระกายเป็นนางสิงห์ ซึ่งเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับ “แมวบ้าน” ที่เป็นดั่งตัวแทนของพลัง, การปกป้องอันตราย และ ความสง่างามเพริศพราย ซึ่งล้วนแต่เป็นมงคลกับผู้ดูแลแมวเป็นอย่างดี ความเชื่อนี้มีมายาวนานหลายพันปีเลยครับ
จิ้งจกทัก การที่จิ้งจกร้องทักผู้ใหญ่สมัยก่อนท่านว่าเป็น “ลางบอกเหตุ” ที่เชื่อว่ามีทั้งดีและร้าย ไม่ใช่ว่าทักแล้วต้องไม่ดีอย่างเดียว โดยขึ้นอยู่กับ “ตำแหน่ง” แห่งที่ของการร้องทักที่ว่านี้ด้วยดังที่โบราณว่า “ข้างหน้ามีชัยไปเถิด ข้างหลังห้ามไปไม่ดี ข้างซ้ายมีชัยไปเถิด ข้างขวาห้ามไปไม่ดี ข้างบนห้ามไป จิ้งจกไต่เท้าจะมีชัยไปเถิดดี”
เรื่องนี้เป็นความเชื่อที่อาจมองเป็นความรอบคอบของคนสมัยก่อนท่านก็ได้ เพราะที่ไหนจิ้งจกเยอะที่นั่นอาจมีงูตามมาได้ ดังนั้นการที่มันร้องกันเซ็งแซ่ก็อาจเพราะเจองู ซึ่งสมัยก่อนที่ยังมีสุมทุมพุ่มไม้เยอะก็คงต้องระวังเวลาเดินออกจากบ้านไป เห็นไหมครับว่าจิ้งจกนี้ที่จริงเป็นสัตว์น่ารักเพราะช่วยเรากินแมลงไม่ให้มารบกวนในบ้านแล้วยังช่วย “ทัก” ตามที่ต่างๆ ฝึกสมองให้เราแก้เหงาได้อีก (แฮ่)
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์คือสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์นั้นทรงมีพระเมตตาสูง ประทานข้าวสุกในเครื่องฉันของท่านแบ่งจิ้มกับข้าวแล้วแปะผนังให้กับบรรดาจิ้งจกที่กุฏิ ดังนั้นท่านผู้อ่านก็ไม่ต้องกังวลจนเกินไปกับเสียงร้องของจิ้งจกตัวน้อยเลยนะครับ
ตุ๊กแก ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเกี่ยวกับตุ๊กแกอย่างหนึ่งคือสัตว์ชนิดนี้เป็นที่สิงของดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับแล้วท่านมาเตือนด้วยการส่งเสียงร้องซึ่งมีความหมายในรูปแบบต่างๆ
บางตำราก็ว่าให้ดูจำนวนครั้งที่ร้อง ถ้าร้อง 5 ทีไม่ดีนัก ส่วนร้อง 6 ถือว่าเจ้าของบ้านจะมีเรื่องเดือดร้อนอึดอัด ถ้าร้อง 7 ก็ยิ่งไม่ดีเพราะจะทำให้เสียทรัพย์ด้วย แต่หากตุ๊กแกร้องมากกว่านี้เช่น 8, 9 หรือ 10 ครั้งนั้นจะโชคดี มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต โบราณท่านว่าควรจะเลี้ยงไว้ (อ้าว... ปกติไม่เลี้ยงเขาก็เกาะตาโตอยู่ฝาบ้านอยู่แล้วนะฮะ) และถ้าพิเศษกว่านั้นคือถ้าร้อง 11 ครั้งนี่ถือว่าโชคดีหลายชั้นมากกับเจ้าของบ้านอาจพานพบเนื้อคู่ด้วย แต่ตำราท่านบอกถ้าร้องเบาๆ หรือน้อยกว่า 5 ครั้งก็ไม่ต้องเมื่อยหูนับก็ได้เพราะไม่มีความหมายนัก
อย่างไรก็ดีครับไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เพราะโบราณท่านว่าไว้แต่การที่บ้านมีตุ๊กแกมาอาศัยอยู่ก็แสดงว่าบ้านของท่านน่าอยู่อาศัยครับ ใครที่ใจบุญมีเมตตาก็ย่อมทำให้เคหาสถ์นั้นเป็นที่ร่มเย็นเสมอ
แมงมุมตีอก เรื่องนี้เชื่อว่าหลายท่านไม่เคยได้ยิน เรื่องแมงมุมตีอกบอกลางร้ายนี้ตำราท่านว่าถ้าได้ยินเสียงแมงมุมตีอก “ผึงๆ” ผิดสังเกต (ผมก็เพิ่งรู้ว่าแมงมุมตีอกเป็นเสียงอย่างนี้) ท่านว่าจะเป็นเสียงที่ฟังแล้วสะท้านเยือกเย็นครับ จะเป็นลางร้าย ถ้าใครกำลังจะเดินทางควรต้องละเว้นหรือยกเลิกเด็กขาดเพราะอันตรายหรือหายนะถึงชีวิตจะมาเยือน ฟังแล้วก็ขนลุกนิดๆจิตตกหน่อยๆ นะครับ โบราณท่านได้แยกแยะผลของแมงมุมตีอกตามที่ต่างๆในบ้านไว้ด้วย เช่น แมงมุมตีอกในเรือนจะเกิดวิวาทพลัดพรากกัน ถ้าตีอกใต้ที่นอนจะตายหรือบาดเจ็บสาหัส หากตีข้างฝารอบๆจะต้องระวังการเดินทางไกลอาจมีอุบัติเหตุ ส่วนถ้าตีอยู่ที่หัวนอนจะมีสิ่งชั่วร้ายมาทำให้โกรธเคือง สุดท้ายถ้าตีอกเบื้องทิศปัจฉิมซึ่งคือประจิมตะวันตกท่านว่าจะมีผู้ใส่ความ ข้าและเมียจะหนีหาย
งู คนไทยเราก็มีความเชื่อเกี่ยวกับนิมิตอาถรรพณ์ของอสรพิษนี้อยู่พอสมควร ดังความเชื่อที่เป็นมงคล เช่น เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชสมภพนั้นได้ปรากฏเหตุการณ์เป็นอัศจรรย์ คือมีอสุนีบาตฟาดลงตรงเสาดั้งของห้องเรือนที่ท่านประสูติ แต่หามีผู้ใดเป็นอันตรายไม่ ครั้นเมื่อประสูติได้ 3 วันขณะนอนอยู่ในกระด้ง (สมัยก่อนใส่เด็กอ่อนในกระด้ง) ก็มีงูเหลือมใหญ่เข้ามานอนขดเป็นวงล้อมรอบตัวทารกเป็นทักษิณาวัตร
ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีบทกลอนพระราชนิพนธ์เมื่อครั้งเสด็จกลับจากประพาสยุโรปที่พระราชทานแด่เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ลดาวัลย์ ซึ่งโคลงบทนี้เดิมบรรจุทำนองเป็นแขกมอญ 3 ชั้นแล้วต่อมาสุนทราภรณ์อัญเชิญแปลงเป็นเพลง “ทำนายฝัน” อันมีเนื้อเดิมว่า “คืนนั้นฉันฝันไปว่าชมสวน หอมลำดวนดอกแย้มแซมไสว เขาโน้มกิ่งชิงเก็บกำเริบใจ มีงูใหญ่เลื้อยกระหวัดรัดข้อมือ ฉันดิ้นร้องก้องหูจนรู้สึก วานช่วยนึกทำนายร้ายอยู่หรือ ไม่ร้ายลองต้องวุ่นดอกบุญลือ ฝันนี้ คือจะได้คู่สู่สมเอย” เป็นเรื่องงูแบบไทยๆที่ใช้เป็นนิมิตทำนายฝันถึงเนื้อคู่
ส่วนในข้างฝั่งตะวันตกนั้นอสรพิษถือเป็น “ผู้ร้าย” แต่ไหนแต่ไรมาด้วยถือว่าเป็นตัวแทนของสิ่งที่ซาตานส่งมาล่อลวงมนุษย์คู่แรกให้กระทำผิดบาปลักลอบกินผลไม้ต้องห้ามจนถูกลงโทษให้ตกสวรรค์ ส่วนอสรพิษร้ายผู้ก่อเรื่องถูก “สาป” ให้ต้องรับโทษอย่างที่สัตว์อื่นไม่เคยประสบนั่นคือ “ให้ต้องใช้ท้องเดินตลอดไปและให้ต้องอยู่กับพื้นกินฝุ่นคลีอยู่ตลอดชั่วกาลนาน
(Genesis 3:14)” ส่วนข้างฝั่งชาติใกล้บ้านเราอย่างฟิลิปปินส์เชื่อว่าถ้าใครข้ามงูเข้าถือว่าเป็นโชคร้ายอย่างยิ่งด้วยถือว่างูนั้นเป็น “ปีศาจจำแลง” ซึ่งผมว่าการข้ามงูก็เสี่ยงต่ออันตรายอยู่ไม่น้อยแล้วนะครับ สำหรับงูผู้ตกเป็นจำเลยที่น่าสงสารนี้ยังมีข่าวดีให้ได้สบายใจอีกอย่างหนึ่งคือถ้าใครเจอมันในช่วงที่มีคนในบ้านเจ็บป่วย ชาวตากาล็อก เขาเชื่อว่ามันเป็นนิมิตดีว่าคนคนนั้นจะฟื้นคืนมาดีดังเดิมครับ
ผึ้งทำรัง เป็นหนึ่งในความเชื่อเรื่อง “สัตว์มาสู่” คือมีสัตว์เข้ามาหาที่บ้านนั้นว่าจะเป็นผลอย่างไร โดยเรื่องผึ้งนั้นตำราท่านว่าให้ดู “ทิศ” เป็นหลักจึงจะบอกคุณหรือโทษได้ครับ โดยท่านว่าถ้าผึ้งนั้นมาจับทางทิศบูรพา (ตะวันออก) จักเสียทรัพย์ อาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) ให้ระวังเพลิงไหม้ ทิศ ทักษิณ (ใต้) ตัวจะตาย หากเป็นทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) ให้ระวังโจรภัย ส่วนถ้าทำรังในทิศปัจฉิม (ตะวันตก) จะได้ลาภ 2 เท้าเป็นนารี ถ้าพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) จะสุขสบาย หากอุดร (เหนือ) จะมีลาภ สุดท้ายคือทิศอีสานจะมีคนยกย่องนับถือมาก
ทั้งหมดนี้ท่านว่าใช้กับสัตว์อื่นๆที่เข้าบ้านเราก็ได้ ไม่ว่าจะนกแสก, นกยางขาว หรือแม้แต่ปลวกก็ตาม
(ถ้าปลวกขึ้นทิศไหนก็ไม่ค่อยดีมังครับ)
ซึ่งเรื่องสัตว์มาสู่บ้านนี้ผมว่าคนสมัยก่อนท่านคิดดีนะครับ ด้วยท่านมักว่าบ้านไหนที่มีต่อ, แตน หรือผึ้งเข้ามาทำรังนั้นเป็นเรื่องดีไม่ควรตีหรือไล่เสมอไป เพราะแท้จริงการไปรบกวนรังควานเขามากบ่อยๆก็อาจทำให้เขารู้สึกไม่สงบและออกมาทำร้ายคนได้ ดังนั้นท่านจึงแนะให้บ้านที่มีสัตว์ประเภทที่ว่ามาทำรังอยู่นั้นให้เสริมมงคลด้วยการทำบุญและนั่งปฏิบัติภาวนา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกับผู้กระทำอยู่แล้ว
สิทธิการิยะท่านว่านานาเรื่องแห่งลางจากสัตว์นี้ถ้าใช้เหตุผลเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อนจะดี ไม่มีเหตุใดที่จะต้องเชื่อไปทั้งหมด และไม่มีเรื่องใดที่ยืนยันได้ว่าจะต้องเป็นไปตามนั้นทั้งร้อย ดังนั้นจึงขอให้ท่านที่รักใช้ “กาลามสูตร” อันเป็นหลักการแห่งเหตุผลก่อนเชื่อไว้ให้จงหนัก หลายอย่างถ้าเชื่อแล้วลำบากตัวเรานักหรือเดือดร้อนแก่สัตว์ผู้ยากก็ละไว้เพราะไม่มีสิ่งใดจะแก้อาถรรพณ์ได้ดีกว่าการทำดีกับชีวิตอื่นๆครับ.