Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

8 วิธีสร้างความสุขให้ตัวเอง


                 ความสุขเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากจะได้อยากจะมี แต่ความหมายของความสุขของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ความสุขของนักเรียนคือความรู้สึกตอนสอบไล่เสร็จ ความสุขของครูอาจจะเป็นตอนเปิดเทอมกวดวิชา ความสุขของชาวพุทธหมายถึงภาวะที่ปราศจากทุกข์ หรือนิพพาน แต่ความสุขในทัศนะของนักจิตวิทยาคืออะไร

                 สมัยก่อนนักจิตวิทยาสนใจศึกษาแต่เรื่องเซ็งๆ เช่น โรควิตกกังวล ความซึมเศร้า โรคประสาท ความย้ำคิดย้ำทำ ความระแวง ความหลงผิด ฯลฯ ปัจจุบันนี้นักจิตวิทยาหันมาสนใจศึกษาเรื่องความสุขกันมากขึ้น มีการศึกษาเรื่องความสุขอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทำให้เกิดความรู้เรื่องความสุขในแง่จิตวิทยามากขึ้น

                 คนทั่วไปอาจจะว่าความร่ำรวยเงินทองจะทำให้เรามีความสุข แต่เขาได้ทำการศึกษาพบว่า เมื่อเรามีเงินพอเพียงที่จะซื้อหาสิ่งที่จำเป็นหรือสิ่งที่เราชอบ เราอยาก เราใคร่ได้ครบแล้ว เงินที่เพิ่มขึ้นจะไม่ช่วยให้เราเกิดความพอใจมากขึ้นเลย

                 การศึกษาดีทำให้เรามีความสุขไหม เขาพบว่าไม่ได้ช่วยให้เรามีความสุข เราอาจจะสุขใจตอนที่สอบได้ปริญญา แต่หลังจากนั้นมันไม่เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข แม้กระทั่งไอคิวก็ไม่ได้ช่วย อาจจะรู้มากยากนานเสียอีก คนรุ่นพ่อแม่เราอาจจะไม่ได้เล่าเรียนสูง แต่ก็ไม่ได้มีความสุขน้อยกว่าเรา คนที่ไม่ได้เรียนจบปริญญาแต่มีปัญญา กลายเป็นมหาเศรษฐีหรือบุคคลสำคัญที่มีความสุขก็มีมากมาย

                 บางคนอาจจะคิดว่าความหนุ่มความสาวจะทำให้มีความสุขมากกว่าความชรา แต่คำตอบคือไม่ใช่ จากการศึกษาเขาพบว่า โดยทั่วๆ ไปคนชรามีความพึงพอใจกับชีวิตมากกว่าคนหนุ่มสาว และมีอารมณ์เศร้าน้อยกว่า มีข้อมูลว่า คนช่วงอายุ 30 - 50 ปี มีความสุขน้อยกว่าช่วงอื่นของชีวิต อาจจะเป็นเพราะว่าคนช่วงอายุนี้ต้องมีความรับผิดชอบมาก เช่น ต้องขับรถรับส่งลูกลุยจราจรจราจลไปโรงเรียนที่อยู่คนละฝั่งฟากฟ้าของบางกอก ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ

                 ชีวิตสมรสเป็นเรื่องซับซ้อน แต่โดยทั่วๆ ไป คนที่มีครอบครัวจะมีจะมีความสุขมากกว่าคนโสด นักจิตวิทยากล่าวว่า ความสุขอาจจะไม่ได้เกิดจากคู่ตุนาหงัน แต่อาจจะเป็นเพราะว่าคนที่แต่งงานเป็นคนที่มีธรรมชาติโน้มเอียงไปทางชอบเข้าสังคม มีมนุษยสัมพันธ์ดี ไม่เคร่งเครียด ไม่เจ้าระเบียบอย่างคนโสด

                 บางคนอาจจะคิดว่าได้ดูทีวีมากๆ อาจจะสุขใจมากกว่า แต่จากการศึกษาของเขาพบว่าคนที่ดูทีวีมากๆ วันละหลายชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูละครเรื่องยาว ไม่ได้มีความสุขมากกว่าคนที่ไม่ได้ดูหรือดูน้อยกว่า

                 แล้วเรื่องศาสนาล่ะ? เขาพบว่าคนที่เข้าโบสถ์บ่อย เคร่งศาสนามีความสุขมากกว่าคนที่ไม่สนใจเรื่องศาสนา การที่เป็นอย่างนั้นเขาไม่รู้ว่าจะเป็นเพราะพระผู้เป็นเจ้าอำนวยความสุขให้ หรือเป็นเพราะสังคมชาวโบสถ์ทำให้หายเครียด เมืองไทยอาจจะยังไม่มีใครทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องความสุขใจของคนไปวัด แต่เท่าที่พบเห็น คนไปวัดส่วนมากมีความรุ่มร้อนใจน้อยกว่า เพราะมีเวลาได้นั่งนิ่งๆ ทำใจสงบ สวดมนต์ไหว้พระ แผ่เมตตา สมาทานศีล ทำให้เกิดความปกติสุข(แม้จะทำได้ชั่วคราว)

                 เพื่อนที่ดีทำให้เรามีความสุขมากเป็นอันดับต้นๆ จากการศึกษาในปี ค.ศ.2002 ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ยืนยันว่า การมีเพื่อนที่ดีหรือมีครอบครัวที่อบอุ่นทำให้เรามีความสุขมาก เข้ากันได้กับมงคลชีวิตที่พระพุทธเจ้าสอนไว้

                 การดื่มเหล้าทำให้มีความสุขหรือเปล่า สำหรับหลายคนที่ไม่ใช่คอเหล้า การดื่มเหล้าทำให้หมดความปกติสุข(ศีล) เกิดความทุกข์ ซึมเศร้า หาวนอน แต่จากการศึกษาของนักจิตวิทยาชาวตะวันตกพบว่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์วันละแก้วสองแก้วมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่ดื่มเหล้า

                 แล้วความสุขคืออะไร? ในทัศนะของนักจิตวิทยาอย่าง ศาสตราจารย์ทางด้านความสุขวิทยา รัทท์ แวนโฮเวน แห่งมหาวิทยาลัยอีราสมัส ที่รอทเทอร์ดาม ระบุว่า ความสุขคือ “ความพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ของเรา” ลองคิดดูสิบางคนอาจจะอยู่บ้านหลังละหลายสิบล้าน มีสระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำพร้อมจากูซี มีเครื่องน้ำพุฉีดพุ่งขึ้นล้างก้น ห้องครัว ห้องน้ำห้องนอน ปูด้วยหินอ่อนทั้งหลัง มีทีวีจอยักษ์ มีรถยนต์ราคาแพงยี่ห้อดังหลายคัน แต่ก็ยังไม่มีความพอใจ ยังมีความอยากมี อยากเป็น อยากดังมากขึ้นๆ รุ่มร้อนใจไม่หยุด

นักจิตวิทยาแบบตะวันตกเขาแนะนำวิธีเพิ่มความสุขไว้ 8 ขั้นตอน

                 1. คิดถึงเรื่องดีๆ ที่เรามีอยู่ ที่ฝรั่งเรียกว่า count your blessings เช่น เรามีแขนขาครบถ้วน ตาดี ไม่พิการ ฯลฯ เราดีกว่าคนอื่นอีกหลายคน ไม่ควรจะมานั่งซึมเศร้า และให้หัดเขียนบันทึกประจำวันถึงเรื่องที่เรารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ อยากจะขอบคุณเพื่อนหรือคนที่มีพระคุณต่อเราสัก 4-5 เรื่อง สัปดาห์ละครั้ง

                 2. แสดงความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ เช่น ช่วยคนชราข้ามถนน ช่วยซื้อพวงมาลัยจากเด็กตามถนน ให้ทิปแก่เด็กเสิร์ฟ เด็กปั๊ม บริจาคเงินช่วยเหยื่อสึนามิ การแสดงความเมตตากรุณาต่อคนอื่นทำให้มีผลบวกทางใจทำให้เราสบายใจได้ฉับพลันที่นั่นและเดี๋ยวนั้น

                 3. ชื่นชมความดีงามของชีวิตของธรรมชาติรอบตัว เช่น ให้เวลาเล็กๆ น้อยๆ ชื่นชมกับความงามความหอมของดอกไม้ นกปลา

                 4. แสดงความขอบคุณต่อคนที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ คนที่สอนเรา หรือเป็นกัลยาณมิตรต่อเรา

                 5. รู้จักให้อภัย เช่น เขียนจดหมายไปให้อภัยศัตรูคู่อาฆาตที่เคยทำให้เราเจ็บปวด เขาว่าทำอย่างนี้ได้ จะทำให้เราหมดเรื่องที่จะมาหลอกหลอนให้หลงครุ่นคิดหมกมุ่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปตลอดชีวิต

                 6. ให้เวลาให้ความสำคัญต่อเพื่อน ครอบครัว หรือญาติ ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะความสัมพันธ์ที่ดีกับมนุษย์คนอื่นทำให้เกิดความพึงพอใจต่อเรามากในลำดับต้นๆ อย่างหนึ่ง

                 7. ให้เวลาดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี นอนให้พอ ออกกำลังกายเป็นประจำ หาเรื่องทำให้ยิ้มหัวที่ทำให้อารมณ์ดี เช่น อ่านโจ๊ก ดูหนังตลก เขาพบว่าทำอย่างนี้จะทำให้เราเกิดความพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ได้ดีขึ้นอีกอย่าง

                 8. หัดคิดหัดมองโลกให้เป็น คนเราต้องมีปัญหาส่วนตัวด้วยกันทุกคนไม่มากก็น้อย หัดคิดในทางบวก มีแผนวิธีการแก้ไขปัญหาส่วนตัวพร้อมใช้อยู่ในหัว หรืออาจจะต้องใช้ธรรมะเข้าข่มบ้างในบางครั้งบางคราว อาจจะใช้คำพูดปลุกใจเช่น “เรื่องนี้อย่างมากก็เสียเงิน” “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย” ... “อกหักดีกว่ารักไม่เป็น” เป็นต้น

                 ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องของความสุขในแง่ของนักจิตวิทยาซึ่งคิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดแบบคนตะวันตก คิดแบบปุถุชนคนเดินดินกินแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งพอจะเอามาประยุกต์ใช้กับชีวิตคนเดินดินกินข้าวแกงอย่างเราได้มาก โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเข้าวัดเข้าวา ไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยปฏิบัติธรรมให้รู้ซึ้งถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กับเขาเลย

รายการบล็อกของฉัน